การควบคุมเหตุรำคาญตามหน้าที่และอำนาจของเจ้าพนักงาน
1. เจ้าพนักงานมีหน้าที่และอำนาจในการควบคุมและกำกับดูแลการกระทำที่อาจก่อให้เกิด
กลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด จนเป็นเหตุรำคาญ ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข
2. เมื่อเจ้าพนักงานได้รับเรื่องร้องเรียนว่ามีผู้ก่อให้เกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญจากการกระทำ
ที่ก่อให้เกิดกลิ่น หรือควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เจ้าพนักงานมีหน้าที่และอำนาจตรวจสอบการกระทำนั้น หากพบเป็นที่ประจักษ์หรือมีพยานหลักฐานว่ามีการกระทำดังกล่าวจริง ให้ดำเนินการไต่สวนผู้เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ก่อเหตุ ผู้ร้องเรียน ผู้อยู่ใกล้เคียง ถึงพฤติการณ์ของผู้ก่อเหตุได้กระทำการดังกล่าวเป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญหรือไม่ และให้บันทึกถ้อยคำผู้เกี่ยวข้องไว้เป็นหลักฐาน
3. เมื่อเจ้าพนักงานตรวจสอบแล้วพบว่า ผู้ก่อเหตุได้กระทำให้เกิดกลิ่น หรือควันจนเป็น
เหตุให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญจริง ให้แจ้งข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และเหตุผลของการกระทำผิดให้ผู้นั้นทราบโดยให้เจ้าพนักงานออกคำแนะนำแก่ผู้ก่อเหตุให้ปรับปรุงแก้ไขปัญหาเหตุรำคาญ และให้โอกาสโต้แย้งแสดงหลักฐานเพื่อแก้ข้อกล่าวหาในระยะเวลาอันสมควรไม่น้อยกว่า 7 วัน
กรณีตรวจสอบแล้วพบว่า การกระทำนั้นไม่เป็นเหตุรำคาญ ตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้ยุติเรื่องแล้วแจ้งผู้ร้องเรียนและผู้ถูกร้องเรียนทราบ
4. ให้เจ้าพนักงานติดตามตรวจสอบการดำเนินการตามคำแนะนำของเจ้าพนักงานนั้น
หากผู้ก่อเหตุไม่ดำเนินการตามคำแนะนำ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นดำเนินการออกคำสั่งทางปกครอง โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 27หรือมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้วแต่กรณี เพื่อให้ผู้ก่อเหตุดำเนินการปรับปรุงแก้ไขหรือระงับเหตุรำคาญ พร้อมแจ้งสิทธิการอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองให้ทราบด้วย
กรณีผู้ก่อเหตุไม่ปฏิบัติตามคำสั่งทางปกครอง ให้เจ้าพนักงานดำเนินการส่งเรื่องให้ผู้มีอำนาจเปรียบเทียบตามประกาศว่าด้วยเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการเปรียบเทียบของคณะกรรมการเปรียบเทียบและเจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือผู้ซึ่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นมอบหมายต่อไป
กรณีผู้ก่อเหตุปฏิบัติตามคำสั่งทางปกครอง ให้มีคำสั่งยุติเรื่องและแจ้งให้ผู้ก่อเหตุ
และผู้ร้องเรียนนั้นทราบ
|